หน้าแรก > พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน แหล่งรวมของดีที่ไม่ควรเลยผ่าน
|
|
|
|
|
น่าน จัดเป็นเมืองเล็กประเภท Small is Beautiful
วันนี้บ้านเมืองน่านยังคงความสงบงาม คลาสสิคเหมือนดังหยุดเวลาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออกที่ตกทอดมาถึง ปัจจุบัน อันทำให้น่านเป็นดังเมืองเก่าที่มีชีวิต ซึ่งทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้คัดเลือกให้เมืองน่านเป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เมืองน่านมีเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นบนพื้นฐาน ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สำหรับจุดที่ถือเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของเมืองน่านนั้น อยู่ที่บริเวณ ข่วงเมือง หรือ หัวแหวนเมืองน่าน ซึ่งเป็นดังสามเหลี่ยมศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองน่าน อันประกอบไปด้วย วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน แหล่งรวบรวมศิลปวัตถุสำคัญๆประจำเมืองน่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน หรือที่เรียกสั้นๆว่า พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมท้องถิ่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2446 เดิมเป็น หอคำ ที่ใช้เป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งถือเป็นศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
ภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์มีการสร้าง บรรยากาศให้คนมาเที่ยวรู้สึกว่าเหมือนกำลังเดินชมงานศิลปวัตถุอยู่ในบ้าน มีการใช้แสงธรรมชาติมาเป็นส่วนร่วมในการจัดแสดงเพื่อประหยัดพลังงาน
พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 จัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์ วิถีชาวน่าน ชนเผ่าต่างๆ บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เครื่องมือเกษตร การแต่งกาย อาวุธ ผ้าทอ รวมถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อาทิ พิธีสืบชะตา ทาน(ตาน)ก๋วยสลาก ทานสลากภัต และการแข่งเรือหัวนาคอันเป็นเอกลักษณ์
|
|
สำหรับในส่วนจัดแสดงที่ชั้น 2 นี้ยังมีสิ่งสำคัญในระดับไฮไลท์ประจำเมืองน่าน นั่นก็คือ งาช้างดำ ปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านที่ถูกบรรจุไว้ในคำขวัญจังหวัดน่าน
งาช้างดำ ปัจจุบันมีอายุหลายร้อยปี ได้รับการถวายมาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ทายาทจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
งาช้างดำกิ่งนี้ เป็นงาช้างตันที่ถูกดึงมาทั้งยวงจากตัวช้างที่คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 60 ปี และน่าจะเป็นงาข้างซ้าย มีลักษณะเป็นงาปลี ยาว 94 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม วัดโดยรอบตรงโคนได้ 47 เซนติเมตร ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยสลักไว้ว่า กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน ซึ่งไม่ระบุหน่วยการชั่ง แต่จากการชั่งตามระบบปัจจุบันงากิ่งนี้หนัก 18 กิโลกรัม
สำหรับงาช้างดำนั้นถือเป็นหนึ่งใน สัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน ที่หากใครมาเยือนพิพิธภัณฑ์เมืองน่านแล้วไม่ได้ชมก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
|
|
นอกจากงาช้างดำกับศิลปวัตถุอันทรงคุณ ค่าต่างๆแล้ว ในอาณาเขตพิพิธภัณฑ์เมืองน่านแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจในระดับที่สุดของเมือง ไทยอยู่นั่นก็คือ วัดน้อย ที่ตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ทางสนามด้านหน้าของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์
วัดน้อย เป็นวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดใน เมืองไทย มีขนาดกว้างเพียง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร และสูงแค่ 3.25 เมตรเท่านั้น ตัววัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน ซึ่งใครที่ไม่รู้มองผ่านๆอาจนึกว่านี่เป็นเพียงศาลใต้ต้นโพธิ์เท่า นั้น
เหตุที่วัดน้อยถูกสร้างขึ้นมานั้น มีคำเล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูล ถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนวัดเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป พระองค์เข้าเฝ้ารัชการที่ 5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น
ถัดจากวัดน้อยไปทางด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ เพียงไม่กี่สิบก้าวจะเป็นมุมอันสวยงามของพิพิธภัณฑ์กับ กลุ่มต้นลีลาวดีหรือต้นลั่นทม ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ปลูกเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวบนเส้นทางเดินเล็กๆบริเวณ ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งยามเมื่อเดินอยู่ใต้ต้นลั่นทมที่แผ่สยายกิ่งก้านโค้งตัวเข้าหากัน มันให้บรรยากาศของการเดินอยู่ใต้ซุ้มลั่นทมที่ได้ชื่อว่าสวยงามติดอันดับ ต้นๆของเมืองไทยเลยทีเดียว
และนั่นก็เป็นเสน่ห์อันน่าเที่ยวชมของ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่านที่แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่ใหญ่โต แต่ว่าก็มาไปด้วยสิ่งจัดแสดงและเรื่องราวที่น่าสนใจ นับเป็นพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าที่ไม่ควรเลยผ่าน หากแต่ควรใช้เวลาสัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจต่างๆในนี้แบบ Slow Travel ค่อยๆละเลียดชมไปอย่างช้าๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอรรถรสของการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ |
|
ที่มาของภาพ และข้อมูล :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
|