หน้าแรก > อินโดจีน > แม่น้ำโขง |
|
|
|
|
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของโลกที่มีความยาวประมาณ 4,900 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟู ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน
โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาของไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนาว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง”
มีความหมายว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้
มีแม่น้ำสาขาสายสำคัญในประเทศไทยคือ แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูน และแม่น้ำสงคราม ในภาคอีสาน แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ในภาคเหนือ แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทะเลสาบโตนเลสาปของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งต่อเนื่องกับลำธารของเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจันทบุรี และแม่น้ำเซซาน ในประเทศเวียดนาม
|
|
แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ 1,245 ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร ในทุก ๆ ปี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้เฉลี่ยสูงถึง 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
แม่น้ำโขงตอนบนจะได้รับน้ำจากการละลายของภูเขาหิมะเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากเทือกเขาหิมะเหม่ยลี่ ในแซงกรีลา ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง รวมทั้งจากฝนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปีที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ปลายของแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนามนี้ได้แยกออกเป็น 9 สายก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ คนเวียตเรียกว่า “9 มังกร” สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำนี้จึงเป็นที่สะสมตะกอนดินซึ่งมีคุณค่า เป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี และเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก
ด้วยความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลาย ของทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์ปลา และมีความหลากหลายของวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 100 ชนเผ่า ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน และยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น เมืองหลวงพระบาง นครวัดนครธม แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีเชียงแสนหลวง |
|
|
แม่น้ำโขงในประเทศไทย
แม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านประเทศไทยเป็นช่วงของแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งไหลผ่าน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ระยะทาง 84 กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ประเทศลาว และไหลเป็นพรมแดนไทย – ลาวเริ่มจาก จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมความยาวที่ไหลผ่านประเทศไทยประมาณ 976 กิโลเมตร
ในภาคเหนือแม่น้ำคำ แม่น้ำกก และแม่น้ำอิง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณนี้จะมีลักษณะภูเขาและเนินเขาทอดยาวในแนวเหนือใต้ โดยจะมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ปลา สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ เป็นพื้นที่ดูดซับน้ำ ป้องกันอุทกภัย ตลอดถึงการกรองสารเคมี สิ่งแปลกปลอมก่อนลงสู่แม่น้ำโขง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเอียงลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำมูนและแม่น้ำชีไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี บริเวณตอนปลายของที่ราบสูงจะเป็นเนินกว้างลาดชันแยกจากลุ่มน้ำย่อยของทะเลสาบเขมร ในภาคอีสานยังถูกแบ่งโดยแนวเทือกเขาภูพาน ตอนเหนือเป็นแอ่งสกลนคร มีแม่น้ำสงคราม แม่น้ำอูน และไหลไปลงสู่แม่น้ำโขง
สภาพแม่น้ำโขงในภาคเหนือเป็นแก่งหินและหน้าผา แม่น้ำไม่กว้างนักไหลผ่านขุนเขาสองข้างไปจนสุดแดนไทยลาวที่อำเภอเวียงแก่น และเป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงหลวงพระบางในลาว ส่วนสภาพแม่น้ำโขงในภาคอีสาน สายน้ำแผ่กว้างออก ประกอบไปด้วยชายฝั่งและหาดทราย และจะพบเกาะแก่งเป็นจำนวนมากอีกครั้งที่สี่พันดอนในประเทศลาว
แม่น้ำโขงในบริเวณของประเทศไทยมีความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากสูงถึง 20 เมตร เป็นฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติที่นำไปสู่วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชนที่พึ่งพากับแม่น้ำสายนี้ แต่ในปัจจุบันฤดูกาลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนานของประเทศจีน และสภาวะแล้งของต้นน้ำลำธาร
|
|
|
|
ที่มาของภาพ และข้อมูล |
สถานอารยธรรมศึกษาโขง – สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
กระทรวงการต่างประเทศ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์ |